วันเสาร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2552

อย่าเชื่ออย่างงมงาย

อาจารย์ชื่อดังของสำนักแห่งหนึ่ง เป็นคนที่คิดว่าตัวเองเก่งมาก มีความรู้สูง และต้องการที่จะมีอำนาจ ต้องการให้คนอื่นมาแสดงความเคารพนับถือตน ท่านมีลูกศิษย์ที่มาศึกษาอยู่กับท่านประมาณ 200 คน อาจารย์ผู้นี้ได้คอยเลี้ยงดูทุกคนเป็นอย่างดี สอนให้ลูกศิษย์มีความเชื่อถือและเชื่อมั่นในคำพูดของท่าน โดยที่ไม่ให้ลูกศิษย์มีโอกาสซักถาม ลูกศิษย์พวกนี้ก็เป็นพวกที่ไม่ชอบใช้ความคิดของตัวเอง ทุกคนจึงหลงเชื่ออาจารย์

วันหนึ่ง ลูกศิษย์ผู้หนึ่งได้อ้อนวอนกับอาจารย์ว่า...
?ท่านอาจารย์ครับ ช่วยกรุณาสอนวิธีที่จะทำให้พวกเราได้ขึ้นสวรรค์หน่อยเถอะครับ?

อาจารย์ก็ตอบว่า...
?อ๋อ ได้ซิ แต่พวกเธอทั้งหลายจะต้องทำตามฉันทุกอย่างนะ ฉันพูดอะไรก็ต้องทำตาม?

ทุกคนรีบตอบตกลงทันที ต่างคนต่างก็ดีอกดีใจที่จะได้ขึ้นสวรรค์กัน อาจารย์พาทุกคนไปที่ศาลา เสร็จแล้วก็นั่งลง ทุกคนก็นั่งลงตามอาจารย์ พออาจารย์จะเริ่มพูดก็เกิดรู้สึกคันจมูก และจามออกมา ทุกคนในที่นั้นก็ทำตาม อาจารย์ก็ตะโกนว่า ?เอ๊ะ อะไรกัน? ทุกคนก็ตะโกนกลับว่า ?เอ๊ะ อะไรกัน? อาจารย์ชักจะโมโหเลยชี้หน้าลูกศิษย์ทั้งหลาย แล้วตะโกนว่า ?เงียบ? ทุกคนก็ชี้หน้าอาจารย์ แล้วก็ตะโกนว่า ?เงียบ? เช่นกัน อาจารย์ทนไม่ไหว เลยยกมือตบหน้าลูกศิษย์คนหนึ่ง ทันทีทันใดนั้น อาจารย์ก็โดนตบหน้าไม่รู้กี่ร้อยครั้ง อาจารย์ทนไม่ไหว วิ่งหนีออกไปข้างนอก ลูกศิษย์ทั้งสองร้อยคนก็วิ่งตามอาจารย์ออกไปเช่นกัน พออาจารย์มาถึงบ่อน้ำก็กระโดดลงไปในบ่อ เพื่อที่จะหนีจากลูกศิษย์พวกนี้ แต่ลูกศิษย์โง่ๆ เหล่านั้น กระโดดตามลงไปอัดในบ่อน้ำ โดยคิดว่าจะตามอาจารย์ขึ้นสวรรค์

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อย่าได้เชื่อคำสั่งสอนของใครอย่างงมงาย ถ้าเราเชื่ออย่างงมงาย และปฏิบัติตามที่เขาสอนเราทุกอย่าง เราอาจจะตายไปโดยเปล่าประโยชน์ก็ได้ เพราะฉะนั้น ให้เรานึกคิดและตรึกตรองคำสอน ไม่ว่าจะมาจากใครก็ตามให้ดีเสียก่อนที่จะเอาไปทดลองดู อย่าเชื่อทันที ถ้ามันเกิดประโยชน์ก็เก็บไว้ ถ้ามันไม่มีประโยชน์ ก็ให้รีบทิ้งมันไปเสีย บทเรียนเหล่านี้ก็เช่นเดียวกัน อ่านแล้วให้เอาไปคิดดูให้ดี กลับมาอ่านใหม่แล้วเอาไปคิดใหม่ ลองเอาไปทดสอบดูให้ดีๆ เสียก่อน อย่าได้เชื่ออย่างง่ายๆ

1 ความคิดเห็น:

  1. กาลามสูตร
    กาลามสูตรเป็นหลักแห่งความเชื่อที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ให้แก่พุทธศาสนิกชน ไม่ให้เชื่อสิ่งใด ๆ อย่างงมงายโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นจริงถึงคุณโทษหรือดีไม่ดีก่อนเชื่อ มีอยู่ 10 ประการคือ

    1.อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ฟังๆ กันมา
    2.อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ทำต่อๆ กันมา
    3.อย่าเพิ่งเชื่อตามคำเล่าลือ
    4.อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างตำรา
    5.อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกเดา
    6.อย่าเพิ่งเชื่อโดยคาดคะเนเอา
    7.อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกคิดตามแนวเหตุผล
    8.อย่าเพิ่งเชื่อเพราะถูกกับทฤษฎีของตน
    9.อย่าเพิ่งเชื่อเพราะมีรูปลักษณ์ที่ควรเชื่อได้
    10.อย่าเพิ่งเชื่อเพราะผู้พูดเป็นครูบาอาจารย์ของตน
    เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล
    ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ
    ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข
    เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่
    ปัจจุบันแนวคิดและหลักสูตรที่สอนให้คนมีเหตุผลไม่หลงเชื่องมงาย ในทำนองเดียวกับคำสอนของพระพุทธองค์เมื่อ 2500 ปีก่อนได้รับการบรรจุเป็นวิชาบังคับว่าด้วยการสร้างทักษะการคิดหรือที่เรียกว่า "การคิดเชิงวิจารณ์" (Critical thinking) ไว้ในกระบวนการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยของประเทศพัฒนาแล้ว

    ตอบลบ